ใครยังฟังเพลงด้วยหูฟังแบบสายบ้างครับ?
เพียบ…..ไม่น่าถามเลย แต่ที่ผมเกริ่นมาแบบนี้ เพราะผมเชื่อว่า ถ้าคุณผู้อ่านได้ใช้ชีวิตในเมืองหลวง หรือต้องไปที่ ๆ คนเยอะ ๆ เป็นประจำ ก็น่าจะได้เห็นทุกคนใส่หูฟังเพื่อฟังเพลง เพื่อดูคลิป ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกต แล้วไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านคิดเหมือนผมไหมว่า “เกือบทุกคนใช้หูฟังไร้สาย” ไม่ว่าจะไร้สายแบบไหนก็ตาม แต่ตอนนี้อย่างน้อย 10 คน ที่เดินผ่านหน้าผมไป แล้วกำลังฟังเพลง จะมี 6-8 คน ที่ใช้หูฟังไร้สาย แล้วถ้าใน 6-8 คน ที่ผมผ่านหน้าไป 4-5 คน เป็นหูฟังแบบ True Wireless กันแล้ว
ที่มาถึงทุกวันนี้ได้ในตอนนี้ ผมขอขอบคุณในหลายสิ่งรอบ ๆ จริง ๆ ไม่ว่าจะเพลงที่ฟังแบบเหมาจ่ายได้ เทคโนโลยี Bluetooth ที่ดีขึ้นมากกก จนสามารถรับ ส่ง ข้อมูลแบบเริ่มไม่แพ้สายทองแดงของหูฟังได้ รวมไปถึงคนที่จุดกระแสหูฟังไร้สายได้สำเร็จแบบวงกว้างอย่าง Apple AirPods (แล้ว 4-5 คน ที่เดินผ่านหน้าผม แล้วใช้ True Wireless ที่ผมเห็นเนี่ย ก็เป็น AirPods เกือบทั้งหมด!!!) สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนการใช้ชีวิตของเรา ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านน่าจะใช้บริการฟังเพลงเหมาจ่าย ไม่ว่าจะแบบฟรีหรือแบบจ่ายรายเดือนอยู่ รวมถึงมี Smartphone ละก็ มีหูฟังแบบสายสัก 1 เส้นแน่ ๆ และมีหูฟังไร้สายสัก 1 ตัว ที่ใช้ครอบจักรวาล ถ้าคุณผู้อ่านคนไหนชอบเล่น Gadget หน่อย ก็ต้องมีหูฟังไร้สายที่แยกกิจกรรมไปอีก
ในเมื่อหูฟังไร้สายแบบ True Wireless ชิ้นที่สองที่สามัญคู่มือถือมากขึ้น สามัญชนิดที่น่าจะเป็นของชิ้นที่ 3 หรือ 4 ต่อจากเคสหรือฟิล์มกันรอย ที่จะซื้อหลังจากซื้อมือถือสักเครื่อง ผู้ผลิตหูฟัง ผู้ผลิตสินค้าไอที เคยทำหรือไม่เคยทำหูฟังก็ไม่รู้ละ แต่ตลาดหูฟัง True Wireless มีความหมายมาก สำหรับผู้ผลิตที่ไม่ได้ทำหูฟังมาก่อน เพราะถ้าทำมาดี จะเข้าไปนั่งในใจผู้บริโภค จนสามารถต่อยอด หรือขายรุ่นต่อ ๆ ไปได้เอง และมีความหมายมากสำหรับผู้ผลิตหูฟังที่อยู่มานาน เพราะถ้าขยับตัวช้า หรือทำมาไม่ดีพอ ก็อาจโดนลืมจากผู้บริโภคไปได้เช่นกัน

Sony ชื่อนี้ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาก็เยอะ สภาพบริษัทกลับมาอยู่ในจุดที่ดีแล้ว หนึ่งในสินค้าที่ทำเงินให้ Sony ต้องยกให้กับฝั่งเรื่องเสียง หูฟังก็คือหนึ่งในสินค้าที่ทำเงินให้กับบริษัท มีความแข็งแรงทางภาพลักษณ์ และยังสามารถแข่งขันในตลาดได้ ฉะนั้นแล้ว คงไม่ยอมตกขบวนกับหูฟังไร้สายแบบ True Wireless ด้วยแน่นอน แต่รุ่นที่ทำให้ Sony แจ้งเกิดกับตลาดนี้สำเร็จ คงต้องยกให้กับบทความนี้ กระแสดีตั้งแต่เปิดตัว ผลการทดสอบจากคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ใช้ และที่สำคัญคือ ยอดขายโดยรวมที่ทำได้ดีมากในช่วงเปิดตัว จนถึงตอนนี้ ผมสังเกตได้เลยว่า เป็นหูฟังที่มีฐานแฟนที่ใช้งานจริงจัง ในขณะที่กระแสโดยรวมก็ยังไปได้อยู่ และเอาจริง ๆ ถ้าไม่ใช่ AirPods ผมให้หูฟัง True Wireless ที่เดินผ่านหน้าผมบ่อยสุดคือ Sennheiser Momentum True Wireless กับ Sony WF-1000XM3
และหลังจากที่ได้ลองใช้เองอยู่นาน ผมพอจะเข้าใจว่า ทำไมถึงได้รับความนิยม และพอกับที่ผมมองเห็นว่า อะไรคือสิ่งที่ Sony ทำได้ดี รักษาไว้ต่อ และสิ่งไหน คือสิ่งที่รุ่นถัดไปจากนี้ ทำให้ดีกว่านี้ได้อีก….
ส่องรอบตัว

ตั้งแต่หูฟังแนว True Wireless ได้รับความนิยมเป็นต้นมา ถ้าไม่นับ AirPods แล้ว งานออกแบบตลับส่วนใหญ่จะออกไปในทางสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนสบู่ก้อนแบบแบนหน่อย Sony WF-1000XM3 ก็เช่นกัน มองเผิน ๆ อาจะเหมือนกับเจ้าอื่นในตลาด แต่หน้าตาของตลับในแรกเห็น “สวย” สวยแบบผมไม่เปลี่ยนใจมาถึงทุกวันนี้ กลิ่นอายงานออกแบบเหมือนถ้วยน้ำชาญี่ปุ่นชั้นดี โดยสีที่ผมเลือกมานำเสนอ เป็นสีครีม ฝาตลับสีทอง ซึ่งตัวหูฟังเองก็จะสีเดียวกับตลับด้วย ส่วนอีกสีคือสียอดนิยม นั่นคือตลับดำ ฝาตลับสีทอง ตัวหูฟังสีดำ ได้รับความนิยมชนิดที่ใช้เวลาพักใหญ่ ๆ กว่าจะมีสินค้าเข้ามาแบบให้ซื้อได้ตามปกติ ไม่ว่าจะสีไหน สวยทั้งคู่ แต่ผมเชียร์สีครีมมากกว่า ด้วยเหตุผลของผิวสัมผัสของสีครีม ทั้งตัวตลับและหูฟัง เป็นผิวสัมผัสแบบด้าน แต่สีดำมีผิวสัมผัสที่คล้ายยางเล็กน้อย ทำให้ในการใช้งานจริง มีโอกาสที่จะเก็บฝุ่นที่ผิวได้มากกว่า รวมถึงเมื่อใช้งานไปนาน ๆ ความมันเงา ของสีดำ จะดูเด่นชัดมากกว่าด้วย แต่ละส่วนของหูฟัง มีรายละเอียดดังนี้ครับ

ตลับมีหน้าดาแบบแนวเดียว AirPods ถ้าจับตั้งตรง มองหน้าตรงแล้ว ส่วนโค้งที่อยู่ระหว่างฝาตลับกับตลับ จะมีช่องไฟสีแดงซ่อนอยู่ ใช้งานเพื่อบอกว่า กำลังชาร์จไฟอยู่ ฝาตลับใช้การล็อคแบบแม่เหล็ก เปิดฝาตลับออก จะพบกับสัญลักษณ์ NFC ที่อยู่ใต้ฝา ซึ่งเป็นตำแหน่งสำหรับใช้เชื่อมต่ออุปกรณ์แบบแตะกัน

เมื่อเปิดฝาตลับแบบงัดออกจากตัว หูฟังจะวางในระนาบแนวเส้นตรง โดยตรงกลางระหว่างหูทั้งสองข้าง จะระบุว่า หูข้างไหนซ้ายหรือขวา ตัวหูฟังถูกเก็บในตลับที่ดูดด้วยแม่เหล็ก หยิบออกด้วยการใช้นิ้วงัดจากตรงข้างขึ้นมาได้ เมื่อยกหูฟังออกมาแล้ว จะเห็นหน้าสัมผัสที่ใช้ล็อคกับชาร์จไฟกลับ โดยเบ้าตลับหูฟัง ถูกออกแบบให้ใส่ได้พอดี ใส่ผิดข้างจะไม่มีทางลงล็อคแน่นอน โดยการหย่อนหูฟังกลับลงตลับ สามารถดูดและล็อคได้อย่างพอดี

ด้านล่างของตลับ เป็นช่องชาร์จแบบ USB-C มีการเว้าช่องให้กว้างพอสมควร ซึ่งน่าจะเพียงพอกับการใช้งานร่วมกับสาย USB-C ทุกทรงได้อย่างพอดี

ในส่วนตัวหูฟัง ทรงหูฟังเป็นแบบเม็ดแคปซูลยา ทั้งสองข้าง จะมีหน้าสัมผัสแบบวงกลม ทำหน้าที่เป็นปุ่มสำหรับควบคุม โดยใช้การแตะลงไป ไม่ต้องออกแรงกดอะไรก็สามารถทำงานได้ ข้าง ๆ หน้าสัมผัสควบคุม เป็นไมค์สำหรับดูดเสียงรอบข้างมาตัดเสียงออก รวมถึงเป็นไมค์สนทนาเมื่อใช้งานโทรศัพท์ หากสังเกตดี ๆ หลังตัวอักษร Y จะเป็นที่อยู่ของไฟสถานะ เมื่อพลิกมาด้านหลังของหูฟัง จะเห็นแถบพลาสติกสีดำ ๆ ซึ่งเป็นที่อยู่ของเซ็นเซอร์ตรวจการสวมใส่ หากมีแสงไปกระทบ เพราะถอดหูฟังออก หูฟังจะหยุดการทำงานให้อัตโนมัติ (ตั้งค่าให้ไม่ต้องหยุดการทำงานก็ได้)

ถ้าเอาประสบการณ์ใช้งานหูฟังแนว True Wireless ทรงตลับทั้งหมดแล้ว ถ้าไม่นับ AirPods ผมให้ Sony WF-1000XM3 คืองานตลับที่ดีที่สุด วัสดุ การทำสี งานประกอบ ถือว่าดีมากอันดับต้น ๆ ในแง่การใช้งาน ขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ในตอนแรกที่ได้จับ สามารถปรับตัวให้อยู่ด้วยกันได้ไม่ยาก ถ้าชีวิตประจำวัน มีกระเป๋าแบบไหนก็ได้ติดตัวไปด้วย ตลับก็ไม่ค่อยกินที่ในการพกพา แต่ถ้าเป็นคนไปแบบ มือถือ กระเป๋าเงิน จะเริ่มยากเล็กน้อย ด้วยขนาดรวม ๆ ที่ค่อนข้างหนาไปสักหน่อย ฝาปิด การใส่หรือถอดตลับ คือจุดที่ดีมาก ให้ความมั่นใจและแม่นยำในการใช้งานจริงที่ดีมาก หยิบออกก็ง่าย ใส่กลับตลับแบบรีบ ๆ ก็ไม่พลาดหล่นง่าย ๆ เป็นจุดที่ทำได้ดีกว่าต้นตำรับอย่าง AirPods เล็กน้อยเลยทีเดียว สิ่งเดียวที่ผมไม่ชอบในการใช้งานจริง คือผิวสัมผัสของตัวตลับ สีดำก็ชวนให้กลัวว่าใช้ไปนาน ๆ จากดำดูสวย จะกลายเป็นเงาวับ ส่วนสีขาวเทาที่ผมใช้อยู่ ตัวฝาก็มีริ้วรอยของอาการสีด่าง ฉะนั้นแล้ว ถ้าเลี่ยงได้ อย่าเก็บหูฟังรวมกับของในกระเป๋า จะช่วยยืดอายุความสวยงามของตัวตลับไปได้แน่นอน…ไปดูเรื่องการใช้งานกันต่อเลยครับ
การเชื่อมต่อ / สวมใส่

การเชื่อมต่อหูฟังกับมือถือที่ใช้งาน หากเป็นของใหม่ครั้งแรก แค่เปิดฝา เปิดการตั้งค่า Bluetooth จะสามารถกดเชื่อมต่อได้ทันที แต่หากจะเชื่อมต่อเครื่องอื่น ๆ จากนี้ ให้หยิบหูฟังออกมาสวมไว้ที่หูก่อน แล้วแตะที่หน้าสัมผัสที่หูทั้งสองข้างค้างไว้พร้อมกัน สักครู่ จะมีสัญญาณเสียงในหูฟังบอกว่า “แบตเตอรี่เหลือเท่าไหร่” ตามด้วย” สถานะเชื่อมต่อ” จากนั้นเลือกชื่อหูฟัง WF-1000XM3 ได้เลย ฉะนั้นแล้ว ถ้าจะใช้หูฟังนี้กับหลายเครื่อง ให้ทำการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทุกชิ้นที่เราใช้ให้ครบ เวลาจะเปลี่ยนหูฟังไปต่อกับอุปกรณ์อื่น แค่ไปเลือกเชื่อมต่อจากประวัติหูฟัง WF-1000XM3 ในการตั้งค่า Bluetooth ได้ทันที

หูฟังเป็นแบบ in-ear ฉะนั้นแล้ว ในชุดขายหูฟังจะมียางหูฟังให้เปลี่ยนรับกับหูของเรา การสวมใส่ ให้จับด้านข้างของหูฟัง แล้วยัดหูฟังเข้าไปเลย กดให้แน่น หมุนข้อมือพร้อมกดให้เข้าหูให้ลึกที่สุดเท่าที่ทำได้ แนะนำว่า ต้องเข้าล็อคแบบ เดินแล้วหูฟังไม่สั่นส่ายไปมา หรือเดินแล้วรู้สึกเหมือนมีลมกระแทกอัดในหูจนอื้อเวลาเดินไปมา ฉะนั้นแล้ว การเลือกจุกยางหูฟัง จึงสำคัญมากในการสวมใส่ เพราะหูฟังออกแบบมาให้ใส่ได้พอดีจริง ๆ ถ้าใส่พอดี การใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน จะลงตัวมาก ๆ เมื่อสวมเข้าไปแล้ว หูฟังจะแจ้งสถานะเสียง ไม่ว่าจะสถานะแบตเตอรี่ สถานะการเชื่อมต่อ โดยหากใช้งานทั้งสองหู ทั้งสองหู จะแจ้งสถานะเหมือนกัน

เรื่องการสวมใส่ คือประเด็นหนึ่งที่ผมไม่กังขาเลย ใส่ได้ดีจริง ถ้าจุกยางหูฟังพอดีกับหูจริง ๆ พอยัดเข้าแล้ว ขยับให้เข้าที่แล้ว จะเข้าที่พอดีจริง ๆ ที่ต้องชมเลยคือ วัสดุที่ทำจุกหูฟัง มีความทนทานที่ดี ยังให้การยึดเกาะในหูที่ดี คงสภาพได้ดีเลยทีเดียว กลับมาที่เรื่องการสวมใส่ ต้องชมว่าใส่ได้ดีจริง ๆ เพราะรูปลักษณ์ น้ำหนัก มันค่อนข้างชวนคิดว่า จะสบายจริงเหรอ? แต่พอใส่จริง กระชับ ไม่มีอาการถ่วงหรือหนักจนเกะกะ ไม่ว่าจะนั่งฟัง เดินฟัง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็คล่องตัวจริง ถ้าจะมีเรื่องตำหนิกับประเด็นการสวมใส่ มีแค่สองเรื่อง อย่างแรกเลยคือเนื้อวัสดุจุกยาง แอบกระด้างกับการใช้งานนาน ๆ ยิ่งกับคนที่ชอบแคะหูประจำจนขี้หูแทบไม่มี หรือเป็นคนที่ผิวแห้งมาก ๆ ใส่ไปนาน ๆ มากกว่าสองชั่วโมง จะรู้สึกระคายเคือง จนเหมือนเสียดสีเป็นแผลอยู่ในหูได้ ฉะนั้นเนื้อสัมผัสของจุกหูฟัง หากทำให้นิ่มและเนียนกว่านี้ได้ จะช่วยให้การสวมใส่สมบูรณ์กว่านี้ และอีกเรื่องคือ กับคนที่ตัวเล็กมาก อารมณ์ว่า ผู้ชายสูงไม่ถึง 160 และน้ำหนักน้อยระดับต่ำกว่า 50 กิโลกรัม โครงสร้างทางร่างกาย อาจทำให้หูฟังรุ่นนี้ แอบหนักเมื่อใส่กันไปนาน ๆ ซึ่งประเด็นนี้ ถือว่าเล็กน้อยมาก ฉะนั้น ไปลองใส่ฟังสักหน่อย จะได้คำตอบกับตัวเองครับ แต่ถ้าเอาาโดยสรุป ผมให้เรื่องนี้อยู่ในเกณฑ์ยอดเยี่ยม เมื่อเทียบกับหูฟังแนว True Wireless ทั้งหมดในตลาดตอนนี้

ถ้าเรื่องที่อยากติจริง ๆ คือการทำงานของหน้าสัมผัสที่ใช้ควบคุมหูฟัง มันออกแนว “เอาใจยาก” ขาดความแม่นยำในการแตะ ตัวอย่างง่าย ๆ การควบคุมเพลงแบบ แตะหนึ่งครั้งเพื่อเล่นหรือหยุด ยังไม่เป็นปัญหาเท่า การแตะสองครั้งเพื่อไปเพลงถัดไป หรือสามครั้ง เพื่อถอยกลับไปเพลงก่อนหน้า ลองนึกตามว่า ถ้าเอานิ้วแตะก่อน เพื่อตั้งหลักจะแตะควบคุม แต่พอเคาะสองที หลังเอานิ้วแตะที่หน้าสัมผัส ดันกลายเป็นแตะสามครั้งเพื่อถอยกลับ ทั้งที่เราต้องการแคะไปเพลงถัดไป หรือการควบคุมระบบตัดเสียงที่ใช้การแตะหูซ้าย หรือแตะค้างเพื่อปิดเพลงชั่วคราว หลายครั้งที่ลงน้ำหนักแล้ว กลับไม่สามารถตอบสนองการทำงานได้แม่นยำพอ ถ้าไม่แตะให้แรงพอ หรือหนักพอ ก็จะไม่ทำงาน ฉะนั้นแล้ว ถ้าจะใช้งานให้มีความสุข ต้องรู้จักจังหวะในการแตะปุ่มหน้าสัมผัสของหูฟังให้รู้จังหวะว่า แตะยังไงถึงจะติด ฉะนั้น อยากให้ Sony ปรับปรุงความแม่นยำ ความเสถียร ในรุ่นถัดไป ก็จะลงตัวในภาพรวมแน่นอน

และอีกเรื่องที่อยากให้ทำให้ดียิ่งขึ้นไป คือความเสถียรในการเชื่อมต่อ จากการเวียนเอาหูฟังไปใช้ร่วมกับมือถือ / แท็บเล็ต รวมถึงคอมพิวเตอร์ สิ่งที่สังเกตได้คือ ต่อให้ตั้งค่าใน App Headphones ว่าให้เน้นความเสถียรการเชื่อมต่อเป็นหลัก หูฟังก็ยังมีอาการสัญญาณกระตุกได้เล็กน้อย ถ้าพูดให้ยุติธรรมคือ หูฟังไร้สายทุกตัวเกิดอาการทำนองนี้ได้กันหมด แต่เผอิญว่ามีหูฟังไร้สายแนวเดียว WF-1000XM3 ที่ให้เสียงที่ดี การใช้งานที่ดี และเชื่อมต่อได้เสถียร เรียบเนียนกว่าด้วย แต่ถามว่าอาการสัญญาณไม่นิ่ง แย่มากไหม? ตอบเลยว่า อยู่ในระดับที่รับได้ ไม่ถึงขั้นทำลายอรรถรสหรือสะดุดอารมณ์ในการใช้งานจนเกินไป เอาเป็นว่า ฝีมือระดับ Sony น่าจะเก็บอาการนี้ให้เนียนขึ้นได้อีกในอนาคตแน่นอนครับ

พูดถึง App Headphones ไปเล็กน้อยแล้ว ใครที่เคยใช้หูฟังไร้สายของ Sony อยู่แล้ว ต้องมีติดเครื่องไว้เลย หรือถ้านี่เป็นหูฟังไร้สายจาก Sony ที่ซื้อเป็นตัวแรก ก็ควรมีไว้เช่นกัน เพราะหน้าที่หลักของ App นี้ สามารถแสดงถสถานะแบตเตอรี่ของหูฟัง แบตเตอรี่ของตลับ / ปรับการทำงานของ Noise Canelling กับ Ambient Sounds / ปรับแต่ง Equalizer ได้ ทั้งแบบทำเอง หรือแบบสำเร็จรูปที่ให้มา / ปรับตั้งการทำงานของปุ่มควบคุมที่หูฟัง / ควบคุมการเล่นเพลง รวมถึงอัพเดทซอฟท์แวร์ให้หูฟัง ก็ทำผ่าน App นี้เช่นกัน ฉะนั้นแล้ว เป็นเจ้าของ WF-1000XM3 ต้องโหลด App Headphones มาใช้ด้วยนะครับ
คุณภาพเสียง

เอาจริง ๆ ผมเห็นหลายที่ หลายสำนัก บอกว่ามันเสียงดี ดีงั้น ดีงี้ อืม…ผมไม่เชื่อ แถมผมไม่ค่อยชอบบุคลิกเสียงหูฟัง Sony โดยรวมด้วยซ้ำ เรื่องเสียงดี ก็เหมือนรสชาติอาหาร ที่อร่อยกับไม่อร่อย ขึ้นอยู่กับจริตของคน ๆ นั้น แต่อย่างน้อย ก็มีหลักการร่วมกันในบางอย่าง ที่เราจะพูดได้ตรงกันว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” หลังจากได้ลองฟัง ผมพอเข้าใจแล้วว่า ทำไมหูฟังรุ่นนี้ ถึงได้รับคำชมมากมายจากหลายสำนักรีวิว หรือจากผู้ใช้งาน ก็ตามที เสียงของ WF-1000XM3 ให้เนื้อรวม ๆ ที่ออกมาแน่น ไม่ว่าจะชอบเพลงแนวไหน เสียงกลางของหูฟัง ทำมาดีมาก ครบ แน่น ยิ่งถ้าฟังในโหมดตัดเสียง ผสมกับสถานที่เงียบพอ หูฟังรุ่นนี้ ให้อารมณ์ของหูฟังชั้นดีแบบมีสายได้ไม่ยาก ถ้าตั้งใจฟังดี ๆ รายละเอียดเพลงที่ฟังประจำ (ในเงื่อนไขไฟล์ที่ได้คุณภาพ) หูฟังสามารถขับรายละเอียดที่ควรจะมีได้ค่อนข้างครบ เพิ่มเติมคือละมุนแบบที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเพลงเบา ๆ ไปจนถึงร็อคหนัก ๆ สามารถรับมือ ให้รายละเอียดดนตรี คอรัส ได้ออกมาที่ไม่ผิดหวังแน่นอน ในขณะที่เบส ที่หลายคนมักนึกถึงกับ Sony กลายเป็นเบสที่มีแบบพอดี ๆ ไม่ได้อัดแบบเอาแต่อัด อย่างที่หลายคนมีภาพกับ Sony เอาไว้ ฉะนั้นแล้ว ผมก็เป็นอีกคนที่เห็นตรงกับทุกเจ้าว่า “เสียงดี” ถือเป็นจุดที่ Sony ทำออกมาดีแล้ว ถ้าให้ปรับแก้ ผมคงอยากให้ Sony พยายามเลียนแบบคุณภาพเสียงของรุ่นถัดไป ให้ออกมาใกล้เคียงหรือไม่แพ้หูฟังแบบสายในรุ่นท็อป ๆ เพราะผมเชื่อว่า ด้วยฝีมือของ Sony แล้ว จะเอาชนะคติ ข้อจำกัดของหูฟังไร้สาย ไม่น่าเป็นเรื่องที่เกินฝืมือแน่นอน

อีกสิ่งที่ผมให้ว่า WF-1000XM3 ทำได้ดีมากกว่าหูฟังแนวนี้ คือการใช้งานที่นอกเหนือจากการฟังเพลง ไม่ว่าจะการดูวีดีโอ เล่นเกม ให้คุณภาพเสียงที่ทำให้ภาพยนตร์ที่ดู เกมที่เล่น ออกมาได้อรรถรส เสียงที่ได้ยิน แทบไม่คาดเคลื่อนกับวีดีโอที่กำลังรับชม หรือเกมที่กำลังเล่น ยิ่งถ้าเป็นคนมีหูฟังหลายชิ้น สลับใช้งานกันไปมา จะรู้สึกได้ว่า WF-1000XM3 ให้เสน่ห์บางอย่างกับการใช้งานที่ไม่ใช่การฟังเพลง แล้วทำได้ดีจนอยากหยิบมาใช้เป็นหูฟังตัวแรก ๆ ในกองหูฟังที่มีกับตัว ซึ่งข้อนี้คืออีกจุดแข็งที่ขอยกให้ WF-1000XM3 ด้วยครับ

แต่สิ่งที่ทำให้ความน่าใช้ของหูฟังรุ่นนี้หายไป คือเรื่องไมค์สนทนาครับ อาจฟังดูเล็กน้อย แต่ไมค์สนทนาเวลามีโทรศัพท์เข้าของหูฟังรุ่นนี้ ทำได้แย่กว่าหูฟังไร้สายราคาไม่กี่ร้อยจากตลาดนัดด้วยซ้ำ ความแย่ของมันคือ เสียงรอบข้างชัดเจน แต่เสียงพูดของคนใส่ เป็นสิ่งเดียวที่คู่สนทนาในสายจะไม่ได้ยิน ถ้าให้นิยามก็คงเป็น “Voice Cancelling” ไม่ใช่ “Noise Cancelling” แน่นอน เมื่อไมค์ของหูฟังรุ่นนี้ทำงานได้ไม่ดี การใช้งานเพื่อสั่งงานกับ Siri หรือ Google Assistance จึงไม่ต้องหวังว่าจะใช้งานได้ ขนาดคุยโทรศัพท์ยังไม่รู้เรื่อง แล้วผู้ช่วยคำสั่งเสียง จะไปฟังเจ้าของเครื่องรู้เรื่องได้อย่างไรละครับ? ฉะนั้นแล้ว ประเด็นนี้ ขอให้ Sony แก้ไขงานออกแบบในรุ่นหน้า เพราะแค่เรื่องนี้ ก็ทำให้เวลามีโทรศัพท์เข้า แทนที่จะได้เดินคุยแบบหล่อ ๆ กลายเป็นต้องมาถอดหูฟังออก หยิบโทรศัพท์มาคุยตามปกติง่ายกว่าเห็น ๆ




หูฟังมีระบบตัดเสียง (Noise Cancelling) / ระบบผสมเสียงรอบข้าง (Ambient Sounds) ปรับแต่งให้เหมาะสมกับสถานการณ์ใช้งาน ไม่ว่าจะโดยสารพาหนะ / เดินหรือวิ่ง / นั่งหรือยืน สามารถทำงานแบบอัตโนมัติตามสภาพการเคลื่อนไหวได้ รวมถึงความสามารถยอดนิยมจากพี่ใหญ่ WH-1000XM3 นั่นคือการแตะค้างที่หูฟังซ้าย เพื่อลดเสียงเพลง แล้วเปิดเสียงภายนอกเข้ามาในหู เพื่อใช้ในการฟังเสียงรอบข้างแบบชั่วคราว ในการใช้งานระบบตัดเสียง ถือเป็นหูฟังไร้สายที่ให้การตัดเสียงที่ยอดเยี่ยมมาก สงบ เงียบจริง ๆ ชนิดที่เวลาใช้งานแล้ว โลกที่กำลังใส่หูฟัง คือโลกส่วนตัวของเราจริง ๆ แถมทำผมแอบนิสัยเสีย เวลาใช้หูฟังรุ่นอื่นที่มีระบบตัดเสียง แล้วตัดไม่เกลี้ยงสุด ๆ เท่าที่ WF-1000XM3 ทำได้ ก็จะแแอบนอยด์เล็ก ๆ เช่นกัน

ในขณะที่การทำงาน Ambient Sounds สิ่งแรกที่ขอแนะนำเลยคือ “อย่าใช้ระบบอัตโนมัติ” เพราะตั้งแต่วางขายมา รอให้มันอัพเดทมาถึงตอนนี้ ภาพรวมหลังอัพเดทมาหลายรอบ ก็ไม่ได้ช่วยให้การทำงานของหูฟังดีขึ้น ระบบปรับอัตโนมัติของ Ambient Sounds ของหูฟัง หาความแม่นยำไม่เจอจริง ๆ อยากปรับอะไรก็ปรับ จนความสะดวกเป็นน่ารำคาญแทน ในอนาคตถ้าไม่แก้ให้แม่นยำ ก็ต้องปรับการทำงานให้เร็วจนไร้รอยต่อให้ได้มากกว่านี้ เพราะเอาเข้าจริง ถ้าอยากส่วนตัวก็เปิด Noise Cancelling แต่ถ้าอยากใช้งานนอกสถานที่ให้ปลอดภัยกับตัวเอง เปิด Ambient Sounds Control จะให้การฟังเพลง+รับรู้ภายนอก แต่หากปิดการทำงาน Ambient Sounds Control โดยรวมก็ยังเงียบใกล้ ๆ กับเปิดระบบตัดเสียง เพราะความเป็น In-Ear ก็ตัดเสียงภายนอกไประดับหนึ่งแล้ว ซึ่งการทำงานของ Ambient Sounds โดยรวม ถือว่าใช้งานได้ แต่จะให้ดี อยากให้ Sony คำนวณการผสมเสียงของ Ambient Sounds ให้เป็นธรรมชาติกว่านี้สักหน่อย จะทำให้สุนทรีย์ในเวลาที่อยากฟังเพลง แต่ต้องรับรู้สภาพภายนอก ได้สมบูรณ์กว่านี้แน่นอน
แบตเตอรี่

สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนในการใช้พลังงานของ WF-1000XM3 คือการลดลงแบบเป็นลำดับขั้น ทุกครั้งที่เข้าไปดูเปอร์เซ็นต์ของแบตเตอรี่ พบว่าลดลงทีละ 10% เป็นลำดับ ๆ ไม่ว่าจะใช้งานด้วยการตั้งค่าแบบไหน ค่าเฉลี่ยที่ทำได้ในการใช้งาน อยู่ประมาณ 6 ชั่วโมงพอดี อาจสั้นกว่าหรือยาวกว่าเล็กน้อย +/- ไม่เกิน 30 นาที ฉะนั้นแล้ว ผมเลยจำลองการใช้งานว่า ใช้งานระหว่างเดินทางไปทำงานด้วยขนส่งสาธาณะ เฉลี่ยรวม 2-3 ชั่วโมง (ไป-กลับ) หรือถ้าเพิ่มใช้ระหว่างนั่งทำงานไปด้วย เฉลี่ยวันละ 4-6 ชั่วโมง ซึ่งการใช้งานทั้งหมดนี้ ไม่ใช่การใช้งานต่อเนื่อง มีช่วงที่ถอดหูฟังเก็บลงตลับเพื่อไปทำอย่างอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้ ในหนึ่งวันเมื่อกลับมาถึงบ้าน แบตเตอรี่ในภาพรวมของตัวตลับ ยังอยู่เกิน 60% ฉะนั้น แปลว่าถ้าใช้งานแบบทั่วไป ในแนวเดียวกับที่ผมลองใช้งานในบทความนี้ เฉลี่ยทุก 2 วัน มาชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มตลับสักรอบ ก็สามารถไปไหนไปด้วยกับหูฟังรุ่นนี้ได้สบาย

สรุป “ถ้ารุ่นต่อไปพัฒนาจากจุดอ่อนรุ่นนี้ รับรองว่าดัง”

นี่เป็นอีกครั้งที่ผมรู้สึกเสียดายเล็ก ๆ ผิดหวังหน่อย ๆ แต่ทั้งหมดอยู่บนความรู้สึกที่ดีนะครับ ผมอยากได้หูฟังแนว True Wireless ที่มีความเป็นเพื่อนที่ดีแบบ AirPods แต่เก่งและทำได้เหนือกว่า AirPods มานานแล้ว ความคาดหวังผมที่มีต่อ Sony WF-1000XM3 จึงเป็นความหวังว่า มันจะทำได้เหนือกว่า ใช้งานได้แบบทำให้ผมทิ้ง AirPods ไว้ที่โต๊ะ จนเผลอ ๆ ชีวิตไม่ได้ต้องการ AirPods อีกต่อไป ถึงไม่สะดวกสักหน่อยตอนสลับอุปกรณ์ก็ไม่เป็นไร เพราะมือถือที่ใช้ฟังเพลงประจำก็แค่ 1-2 เครื่อง ประสบการณ์ที่หูฟังรุ่นนี้มอบให้ เอาจริง ๆ เปรียบเสมือน พึ่งรู้จักกัน ได้กันอย่างลึกซึ้งบนพื้นที่สี่เหลี่ยมนุ่ม ๆ แล้วตื่นมาด้วยความรู้สึก อยากให้มีคืนแบบนี้ทุกคืนต่อไป

แต่ชีวิตไม่ได้มีแค่พื้นที่สี่เหลี่ยมนุ่ม ๆ ที่อยู่ด้วยกันแบบสองต่อสอง เพราะชีวิตต้องมีอีกหลายมุมให้ลองใช้ชีวิตด้วยกัน มีทั้งมุมที่ต้องการความร่วมมือ ความเชื่อใจ แล้วพอผมได้ใช้ชีวิตในมุมอื่น ๆ ถึงได้รู้ว่า มันยังไม่ใช่ที่ผมจะใช้ชีวิตแบบฝากชีวิตกันได้ ถึงผมจะพยายามยอมรับว่า สรรพสิ่งใด ๆ ไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่บางสิ่งที่จำเป็นกับการใช้ชีวิต อาจจำเป็นต้องมีมากกว่าความสุข ความน่ารัก น่าตื่นเต้นในชั่วครั้งชั่วคราว และทั้งหมดนี้คือความรู้สึกแบบที่ผมมีให้ต่อ Sony WF-1000XM3 ที่เปรียบเสมือนคนที่คบกันแบบศึกษาดูใจ แต่สุดท้ายก็พบว่า เราเข้ากันไม่ได้….

แฟน ๆ หูฟังรุ่นนี้ที่ใช้แล้วชอบ อย่าพึ่งด่าผมนะครับ ผมไม่ได้บอกว่ามันจะไม่เข้ากับคนอื่น เพียงแต่ผมมองว่า สิ่งที่ควรทำได้ดีในหน้าที่หลัก นั่นคือ การเป็นหูฟัง อันนี้มี 10 คะแนน ให้ 11 ก็ยังได้ พ่วงด้วยความเนียน ได้อารมณ์กับการใช้งานนอกเหนือจากเพลง ที่หูฟัง True Wireless อื่น ๆ ยังขโมยความดีความชอบนี้ไปไม่ได้ในตอนนี้ แต่เรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นกับชีวิตประจำวัน หูฟังรุ่นนี้กลับทำให้ผมต้องกลับไปคิดใหม่ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก ว่าตกลงแล้ว ผมควรยอมรับ ปรับตัวในสิ่งที่เป็น หรือผมกลับไปอยู่กับหูฟังที่เสียงธรรมดา ๆ แต่เรื่องอื่น ๆ ไว้ใจได้แน่นอน ถ้าเช่นนั้นแล้ว ผมคิดว่าสิ่งที่ Sony ควรจะทำในรุ่นถัดไป ถ้าทำแล้ว มันจะสมบูรณ์แบบชนิดดังพุลแตกได้แน่นอน
- งานออกแบบสอบผ่านหมดแล้ว แต่ลองหาวิธีลดขนาดลงสัก 10-20% เพื่อให้พกพาง่ายขึ้น ในขณะที่ตัวหูฟัง ขอให้เป็นทรงเดิม เพิ่มเติม จัดน้ำหนัก บาลานซ์ให้ดีขึ้น (ของเดิมก็ดีแล้ว แต่น่าจะดีกว่านี้ได้อีก) แล้วไปทำยางหูฟังให้นิ่ม เนียนมากขึ้น แล้วจะทำให้คนหลงรักในวงกว้างได้มากขึ้นกว่านี้
- วัสดุตลับ ขอให้มีการเคลือบสีที่ทนทานกว่านี้หน่อย เพราะในการใช้งานจริง ถ้าเก็บรวมกับของในกระเป๋า หรือใช้งานจริง โทรมค่อนข้างง่ายไปหน่อย หรือถ้าใจดี ช่วยออกกระเป๋าหรือเคสยางสักชิ้นมาให้ก็จะใจดีมาก (ซื้อล็อตหลัง ๆ ตอนนี้ มีกระเป๋าให้แล้ว คนซื้อล็อตแรกได้แต่เจ็บใจไป)
- เรื่องเสียงให้เต็มก็จริง แต่ลองทำสำรวจไปฝั่งลูกค้าที่ไม่ชอบดูได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เค้ารู้สึกว่า “ขาดไป” แล้วไปเติมให้ออกมาถูกใจทั้งฝั่งลูกค้าเดิม ลูกค้ากลุ่มที่ไม่ซื้อให้มากขึ้น เพราะด้วยศักยภาพตัวหูฟัง ผมเชื่อว่าทำให้ไปต่อได้อีกกว่านี้ได้
- ไมค์ฯ เรื่องนี้ให้เป็นจุดอ่อนที่ใหญ่สุด ๆ ในรุ่นถัดไป ถ้าทรงหูฟังจะมาแนวนี้ ไม่ต้องแก้ข้อ 1 แต่ไปเพิ่มไมค์ฯ ให้ออกมาคมชัด ใช้งานจริงในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เนียนมากพอ จะทำให้มันกลายเป็นหูฟังตัดเสียงที่พกพาง่ายที่สุด น่าใช้ที่สุดรุ่นหนึ่งของตลาดแน่นอน
- ความเสถียรในการเชื่อมต่อ เพราะหลายครั้งที่ผมพยายามพาตัวเองไปอยู่ที่ ๆ มั่นใจว่า คลื่นรบกวนต่าง ๆ มีน้อย ๆ เน้นว่าต้องได้ฟังเพลงจากหูฟังตัวนี้แบบเนียน ๆ ไม่มีกระตุกนะ แต่เอาเข้าจริง ก็ยังมีอาการกระตุก สัญญาณขาด ทั้งที่อยู่ในสถานที่ ๆ น่าจะไม่มีอะไรรบกวนแล้ว
- กันน้ำ ไม่ต้องระดับแช่น้ำก็ได้ แต่อยากให้กันเหงื่อได้ เพราะหลายคนที่ผมรู้จัก อกหัก ไม่ซื้อมาใช้ เพราะไม่กันน้ำ กันเหงื่อ ทั้งที่ฟังเสียงแล้ว ตกหลุมรัก อยากได้ ยอมรับในเรื่องไมค์ฯ ไม่ดีได้ เพราะหูฟังที่เป็นแนว True Wireless แล้วไปออกกำลังกายได้ ส่วนใหญ่เสียงก็ยังไม่ได้ดีแบบสุด ๆ ฉะนั้นถ้ารุ่นหน้าทำได้ จะได้ลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มอีกเยอะมากแน่นอน
- การทำงานของปุ่มสัมผัสที่หูฟัง ปรับให้รองรับน้ำหนัก ความแม่นยำให้ดีกว่านี้เถอะ มันออกแนว “เอาแต่ใจ” หลายครั้งที่ ควรแตะติด ดันไม่ติด และหลายครั้งที่ จะแตะเพื่อให้ได้แบบหนึ่ง แต่ให้การทำงานออกไปอีกแบบหนึ่งแทน
- ระบบปรับการทำงาน Ambient Sounds ตามการใช้งาน ขาดความแม่นยำ อยากเปลี่ยนก็เปลี่ยน อยากตัดก็ตัด จนทำลายอรรถรสการฟังเพลง ถ้าระบบจะขยันปรับการทำงาน ก็ช่วยทำให้การปรับเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ หรือทำงานให้แม่นยำกว่านี้

เยอะไปไหมครับ…ถ้าเยอะไป ก็ต้องขอโทษแฟน ๆ สาวกของหูฟังรุ่นนี้ไว้ล่วงหน้าเลย แต่ผมอยากให้ Sony ทำออกมาแล้วสมบูรณ์กว่านี้จริง ๆ ไหน ๆ บ่นมาขนาดนี้ ผมขอชมในสิ่งที่ทำให้ผมประทับใจบ้างดีกว่าละกัน
- เสียงดีจริง ไม่ว่าจะฟังแบบไม่ปรับอะไรเลย หรือปรับแต่ง Equalizer ให้ตรงกับความต้องการตัวเอง หูฟังมีการขับเสียงที่ดีในทุกย่านอย่างที่ควรจะเป็น เอาใจคนฟังเพลงได้หลายแนว รวมถึงการใช้งานกับดูหนัง เล่นเกม ที่มาถึงตอนนี้ ผมก็ยังหาหูฟังแนว True Wireless รุ่นไหน มาแทนรุ่นนี้ไม่ได้จริง ๆ
- ระบบตัดเสียงรบกวนเนียนจริง เงียบคือเงียบ สงบคือสงบ เหมาะมากกับการใส่ฟังเพลงขณะเดินทาง หรือนั่งทำงานที่อยากได้สมาธิจริง ๆ และความเนียนในการตัดเสียงรบกวน ทำให้ผมแทบไม่ต้องปรับเสียงในการใช้งานบ่อย ๆ ฉะนั้น ถ้าจะปรับเสียงจากหูฟังไม่ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเงียบจนไม่ต้องเปิดเสียงดัง ๆ ในการฟังได้จริง ๆ
- ความแข็งแรงของงานประกอบ หูฟังแนวนี้ในตลาดที่วางขายทั้งหมดตอนนี้ ผมพบว่างานประกอบแอบไม่เรียบร้อย ไม่ก็ดูไม่แข็งแรงเท่าที่ควร แต่กับรุ่นนี้ ไม่ต้องห่วงอะไรเลย แน่น เป๊ะ แข็งแรงแบบไม่มั่นใจได้
- แบตเตอรี่ใช้ได้ตามสเปกจริง ๆ แถมมีการจัดการพลังงานที่ดีมาก ไม่ว่าจะใช้ฟังเพลง ดูหนัง หรือเล่นเกม การลดลงของหูทั้งซ้ายกับขวา แทบไม่เจอเหตุการณ์ หูข้างใดข้างหนึ่งดับไปก่อน รวมถึงไฟในตลับ ถือว่าเก็บได้ดีมาก มีช่วงที่ผมไม่ได้ใช้งานเลย 2 สัปดาห์ พอหยิบมาเช็คดู ไฟโดยรวมยังครบถ้วนอยู่
- การอัพเดทซอฟท์แวร์ทำได้ง่าย ถึงจะใช้เวลาในการโหลดและติดตั้งที่ค่อนข้างนาน แต่วิธีการถือว่าง่าย และมีให้สม่ำเสมอในการปรับปรุงการใช้งาน

ท้ายสุดนี้ ผมรู้สึกได้ว่า รุ่นถัดไปของ WF-1000X ใน Mark 4 จะเก็บสิ่งที่ขาดไปในรุ่นนี้ให้ออกมาสมบูรณ์ได้ ในเมื่อหูฟังครอบหัวในตระกูล WH-1000X ที่รุ่นแรกก็ทำให้ลูกค้าติดใจ และพัฒนาการของมันก็ออกมาดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น จนกลายเป็นตัวเลือกสำคัญของหูฟังครอบหัวที่น่าใช้ที่สุดรุ่นหนึ่ง
สำหรับตอนนี้ Sony WF-1000X Mark 3 อาจเป็นแค่คืนแสนพิเศษ ที่ตื่นมาแล้ว แยกย้ายกันไปดีกว่า แต่เชื่อได้ว่า ด้วยสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ Sony ทำมาถูกทางมาก ๆ แล้ว ขอแค่ปรับสิ่งเล็ก สิ่งน้อย เน้นให้คนที่ได้ใช้ รู้สึกรักได้สนิทใจกว่านี้
ผมคนหนึ่งละ ที่หวังว่ารุ่นถัดไป ผมจะรักจนลืมของเดิม ๆ อย่าง AirPods ถาวรไปเลย…