ลองแล้วเล่า

ลองแล้วเล่า : Huawei Mate 30 Pro “เป็ดน้อยท่ามกลาง เสือ สิง กระทิง …”

“ใครทัน Android ตอนสมัยแปดปีก่อนบ้างครับ…”

ผมเชื่อว่าทุกวันนี้ทุกคนน่าจะรู้จัก Android สมัย 8-9 ปีก่อนได้เป็นอย่างดี เช่น HTC Desire, Sony Xperia X10, Samsung Galaxy Spica หรือแม้แต่ i-mobile 6010 ที่เป็น Android Housebrand รุ่นแรก ๆ ในไทย หรือบางคนก็น่าจะเคยลองเคยใช้งานกันมาบ้างไม่มากก็น้อยแหละ เพราะสมัยนั้น Android ต้องพูดกันตามตรงว่าเป็น “เป็ด” ดี ๆ นี่เอง

ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพราะว่าสมัยนั้นเนี่ย ความสามารถของ Android เรียกว่าทำได้ไม่ถึงครึ่งของ iOS ในตอนนั้นเลย แถมยังต้องพึ่งความสามารถของผู้ผลิตในการปรับแต่งระบบให้พร้อมสำหรับการใช้งานจริง ดังนั้น Android ในตอนนั้นจึงถูกตราหน้าว่าไม่ต่างกับ “เป็ด” ด้านความสมาร์ท… ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรมากถ้าไม่พึ่ง Google หรือด้านการใช้งาน ถ้าไม่ได้ผู้ผลิต ความเป็น Android แบบโล้น ๆ ในตอนนั้น ก็ไม่ได้ใกล้เคียงคำว่า “ดี” เลยแม้แต่น้อย

แม้ปัจจุบันความเป็น “เป็ด” ของ Android จะทยอยหายไปตามกาลเวลา แต่มือถือรุ่นหนึ่งที่เปิดตัวในปีนี้… ทำให้ผมต้องขุดคำว่า “เป็ด” กลับมาใช้อีกครั้ง … ใช่ครับ นี่คือความรู้สึกจริงหลังจากที่ได้จับเจ้ามือถือเป็ดชื่อดังของเมืองจีนอย่าง Huawei Mate 30 Pro มาได้ระยะหนึ่ง … อ่านถึงตอนนี้ทุกคนคง “เอ้ะ” ว่าผมพิมพ์อะไรผิดไปไหม.. นี่มันมือถือเรือธงของปี 2019 จากยักษ์แดนมังกรเชียวนา… ขอบอกตามตรงว่า “ไม่ได้พิมพ์ผิดครับ” นี่คือเรื่องจริง ประสบการณ์จริงล้วน ๆ จนผมแอบคิดเล็ก ๆ ว่า จะเขียนรีวิวออกมายังไงดีไม่ให้มันเป็นแง่ลบจนเกินไป จริงอยู่ที่หลายอย่างของเจ้า Mate 30 Pro มันทำได้ดีมาก และยังคงรักษามาตรฐานได้ดีมาโดยตลอดไม่ขาดตกบกพร่อง

ผมใช้เวลาแรมเดือน นั่งเขียน ๆ ลบ ๆ ว่าจะทำยังไงดีหนา ไม่ให้รีวิวออกมาดูแย่จนส่งผลต่อตัวมือถือมากไป แต่ในที่สุดก็นั่งขัด นั่งเกลาจนมันออกมาเป็น “ลองแล้วเล่า” เวอร์ชันสมบูรณ์ของ Mate 30 Pro ในวันนี้…

ก่อนจะเริ่ม ก็ต้องกล่าวคำขอบคุณให้กับทาง Huawei ประเทศไทย ที่นอกจากให้ยืมเครื่องมาเล่นกันนานแล้วนั้น… ยังได้พาผมไปทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย รวมถึงจัด Workshop ให้ลองกล้องกันแบบจริงจังด้วยนะครับ ^/\^

ส่องรอบเป็ด... เอ้ย... รอบเครื่องกันก่อน

มาเริ่มกันที่องค์ประกอบของเครื่องกันก่อนดีกว่า Mate 30 Pro ตัวนี้เป็นมือถือทรง Slate เหมือนกับมือถือรุ่นทั่ว ๆ ไปตามสมัยนิยม ที่ดูดีมาก คงเป็นดีไซน์ตัวเครื่องที่ดูแพงผิดปกติ เพราะ Mate 30 Pro ตัวนี้ มาพร้อมกับหน้าจอโค้งสองข้างตามสมัยนิยม (และเช่นเดียวกับ Mate 20 Pro และ P30 Pro) ขอบบนและขอบล่างมีความเสมอเท่ากัน และตัวหน้าจอก็สดใสแบบฉบับ OLED ตามสมัยนิยมเหมือนกัน แถมยังใหญ่ถึง 6.53 นิ้ว และยังมี Fingerprint Scanner ในตัวหน้าจออีกด้วย

ด้านบนตัวเครื่องมาพร้อมกับกล้องหน้า 3D Depth Sensing 3 ตัว อันได้แก่กล้อง 3D Depth Camera กล้องอินฟราเรด และกล้องหน้าหลักความละเอียด 32 ล้านพิกเซล ทั้งหมดนี้ใช้ควบคู่กับฟีเจอร์ 3D Face Unlock, Motion Control, AI Rotate และ AI Private View ของ EMUI 10 ส่วนลำโพง…? ตัวนี้ไม่มีลำโพงครับ ฮาาา

แล้วคุยโทรศัพท์ยังไงน่ะหรอ? คำตอบคือตัวเครื่องมี Actuator ขับเสียงฝังอยู่ใต้จอ (ตรงนาฬิกานั่นแหละครับ) เหมือนกับ P30 Pro เด๊ะ ๆ แต่สิ่งที่ทำดีกว่า P30 Pro คือ Actuator ของ Mate 30 Pro ขับเสียงได้ดีกว่าและกังวาลกว่าอย่างชัดเจน

ด้านข้างเครื่องทั้งสองด้าน…. ไม่มีปุ่มอะไรเลยครับ นอกจากปุ่มเปิด/ปิดหน้าจอ เพราะว่าตัวจอ Mate 30 Pro นั้นโค้งลงมาเยอะกว่าโทรศัพท์ที่ใช้จอแบบ Curved Edge ทั่ว ๆ ไป ซึ่งนี่ไม่ใช่กิมมิคด้านดีไซน์ครับ แต่มันมีอะไรเยอะกว่านั้น เพราะนี่คือไฮไลต์หลักของรุ่นที่ Huawei ให้ชื่ออย่างเก๋กับมันว่า “Horizon Display”

อย่างแรกเลยคือ Horizon Display ตัวนี้ ทำหน้าที่เป็นตัวปรับเสียงครับ เพราะการถอดปุ่ม Volume Rocker ออกไป ทำให้เกิดความมึนงงเล็กน้อยว่าจะปรับเสียงกันยังไง ต้องเข้าไปปรับถึงในเมนูตั้งค่าตัวเครื่องเลยหรือเปล่า คำตอบคือไม่ต้องครับ เราสามารถแตะขอบหน้าจอสองครั้ง (แตะแล้วแตะค้าง) แล้วลากขึ้น-ลง เพื่อปรับเสียงในขณะนั้นได้เลย และฟีเจอร์นี้ทำได้ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา ตามความถนัดในการการถือตัวเครื่องของแต่ละคน

อย่างที่สองคือทำหน้าที่เป็น “ชัตเตอร์” ของกล้อง ตามปกติเราต้องกดถ่ายรูปโดยใช้นิ้วโป้งในการกดปุ่มชัตเตอร์ แต่ใน Mate 30 Pro จะมีการเพิ่มปุ่มชัตเตอร์อีกปุ่มหนึ่งตรงบริเวณนิ้วชี้ข้างซ้าย ทำให้สามารถกดปุ่มชัตเตอร์กล้องได้ถนัดมากขึ้น

ข้อเสียของฟีเจอร์ข้อนี้คือ ปุ่มชัตเตอร์โดนล็อกไว้ที่ขอบขวาบริเวณปุ่มเปิด/ปิดหน้าจอ ฉะนั้นเวลากลับหัวเครื่อง (เอากล้องหน้าไปอยู่ทางขวา) ปุ่มนี้จะโดนตลบลงไปอยู่ที่นิ้วโป้งขวาแทน ไม่ได้ย้ายขึ้นไปนิ้วชี้ซ้ายหรือนิ้วชี้ขวาแต่อย่างใด ฉะนั้นฟีเจอร์นี้จะเวิร์คมากกับการถ่ายภาพเซลฟี่แนวตั้ง หรือถ่ายภาพแนวตั้งมากกว่า

และอย่างสุดท้ายคือทำหน้าที่เป็น “ปุ่ม L/R” สำหรับแอปพลิเคชันประเภทเกม ทำให้สามารถควบคุมเกมโดยใช้ 4 นิ้วได้ ซึ่งจะได้ผลมากเวลาเล่นเกมประเภท Shooting หรือ Action RPG อย่าง PUBG Mobile หรือ ROV เป็นต้น (แต่อย่าลืมเปิดฟีเจอร์ Application Assistant ในเมนูตั้งค่าเครื่องก่อนนะครับ ไม่งั้นใช้ไม่ได้)

ด้านหลังเป็นที่อยู่ของกล้องหลัก Huawei SuperSensing Cine Camera ที่ถูกออกแบบภายใต้วงแหวน Halo ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากกล้อง Leica ของจริง (อะไรจะเว่อร์ปานนั้น…) ตัวกล้องหลักประกอบไปด้วยเลนส์จำนวน 4 ตัว คือ

  • กล้อง Cine Camera หรือกล้อง Ultra-wide ความละเอียด 40 ล้านพิกเซล ระยะ 18 มิลลิเมตร ค่ารับแสง f/1.8 เซ็นเซอร์ RGGB แบบ 3:2
  • กล้อง SuperSensing Camera หรือกล้อง Wide ความละเอียด 40 ล้านพิกเซล ระยะ 27 มิลลิเมตร ค่ารับแสง f/1.6 พร้อมการกันสั่นที่ระดับฮาร์ดแวร์ เซ็นเซอร์ RYYB แบบ 4:3
  • กล้อง Telephoto ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ระยะ 80 มิลลิเมตร ค่ารับแสง f/2.4 พร้อมการกันสั่นที่ระดับฮาร์ดแวร์
  • กล้องตรวจจับระยะ 3D Depth Sensing แบบเดียวกับกล้องหน้า
ส่วนตัวแฟลช Huawei Mate 30 Pro มาพร้อมกับแฟลชแบบ LED มีความสว่างมากเมื่อใช้งานในที่มืด

ด้านบนและด้านล่างก็ไม่เหลืออะไรแล้ว นอกจากไมโครโฟนหลัก IR Blaster (ใช้กับแอปฯ รีโมท) พอร์ต USB-C และสล็อตใส่ SIM ตัวเครื่องที่วางจำหน่ายในประเทศไทยเป็นรุ่น 4G สองซิมทั้งหมด ฉะนั้นในถาดใส่ซิมช่องที่ 2 สามารถใส่ได้ทั้งซิม 2 หรือ Huawei NM Card เพื่อขยายความจุในตัวเครื่องให้มากกว่าเดิมเข้าไปอีก

สมบูรณ์สุดในเครื่อง ... คือ "กล้อง"

ตามปกติ… เวลามี “ข่าวดี” กับ “ข่าวร้าย” พร้อมกันเนี่ย เราจะเล่า “ข่าวดี” ก่อนใช่ไหมครับ ก็เหมือนกับรีวิวนี้แหละ ที่ผมจะเล่าส่วนที่ “สมบูรณ์ที่สุด” ในเครื่องก่อน อย่างกล้อง Huawei SuperSensing Cine Camera ตัวนี้

กล้อง Huawei SuperSensing Cine Camera ตัวนี้เนี่ย คือที่สุดของกล้องบนสมาร์ทโฟนจริง ๆ เพราะอะไรน่ะหรอครับ มันดีมากจนไม่รู้ว่าผมจะบรรยายออกมายังไงให้กระชับที่สุด ฉะนั้นคำถามสั้น ๆ ที่ผมจะเขียนตรงนี้คือ “ทุกคนรู้จัก P30 Pro ใช่ไหมครับ” นี่แหละ คือ “ขั้นกว่า” ของ P30 Pro ที่ทุกคนรู้จัก

ให้ผมไล่ฟีเจอร์ที่ทุกคนรู้จักกันดีเลยดีกว่า เริ่มจากฟีเจอร์มาตรฐานที่ทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้วตั้งแต่สมัย Huawei P20 ลากยาวไปจนถึงรุ่นกลาง ๆ อย่าง Honor 20, Nova 3 หรือแม้กระทั่งรุ่นล่าง ๆ อย่าง Y Series อย่าง “Master AI” ใน Mate 30 Pro ก็เช่นกัน โหมดอัตโนมัติของตัวกล้องก็ยังคงมีฟีเจอร์นี้ให้ใช้งานสำหรับคนที่ไม่เก่งเรื่องถ่ายภาพมากนัก

ภาพด้านบนนี้ถ่ายในสภาพแสงที่ “จัดมาก” ท่ามกลางอากาศเย็น ๆ จากเมืองจีนที่ปกคลุมประเทศไทย ของวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา สิ่งที่ได้คือท้องฟ้าที่ฟ้าชัดเจน ต้นไม้ ใบหญ้า หรือแม้แต่ดอกไม้บริเวณด้านหน้าสวนสนุกดรีมเวิลด์ ทั้งหมดมีความเที่ยงตรงและชัดเจนกับสภาพจริง ซึ่งถ้าให้เทียบกับ Flagship เหมือนกัน ภาพของ Mate 30 Pro ตัวนี้มีความคมชัดที่มากกว่า เก็บแสงได้ดีกว่า และให้รายละเอียดที่ครบมากกว่าด้วยเซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าเซ็นเซอร์บนโทรศัพท์มือถือรุ่นอื่น ๆ อย่างชัดเจน

ตัดภาพไปที่ภาพจากโหมด Portrait + Nightmode ด้วยเซ็นเซอร์ RYYB ทุกคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่ามันสามารถรับแสงได้ดีกว่าเซ็นเซอร์แบบ RGB ที่สมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ใช้งานกัน ฉะนั้นเรื่องการถ่ายภาพด้วย Nightmode หรือการถ่ายภาพกลางคืน Huawei ก็ยังทำให้เราไม่ผิดหวังกับคุณภาพที่ได้

ภาพนี้ถ่ายที่ “บ้านผีสิง” สภาพบ้านผีสิงทุกคนน่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าค่อนข้างมืดมากจนเกือบสนิทเมื่อเข้าไป การที่ Mate 30 Pro สามารถขุดภาพออกมาได้สวยและชัดเจนขนาดนี้ คงต้องกราบความเทพของฟีเจอร์การถ่ายภาพในที่มืดหรือที่แสงน้อยที่ทำได้ดีกว่าเดิมค่อนข้างมากเลยทีเดียว

นอกจากกล้อง Wide ที่ทำได้ดีสมชื่อ Leica แล้ว ภาพจากกล้อง Cine Camera หรือกล้อง Ultra-Wide ก็ยังทำได้ดีเหมือนกับ P30 Pro แบบไม่ผิดเพี้ยน สามารถเก็บภาพมุมกว้างได้ดีในแบบที่ต้องการ ภาพนี้ถ่ายจากบน Cable Car ที่มีความนิ่งอยู่ประมาณนึง พ่วงกับฟีเจอร์ AIS (AI Image Stabilization) ที่สร้างชื่อของ Huawei อยู่แล้ว ยิ่งทำให้ภาพมีความคมชัด และที่น่ากลัวคือตามปกติ ภาพจากโหมด Ultra-Wide ในกล้องรุ่นอื่น ๆ จะมีความโค้ง หรือ Distortion อยู่ประมาณหนึ่งอยู่แล้ว แต่สำหรับ Huawei Mate 30 Pro ภาพจาก Ultra-Wide มี Distortion ที่น้อยเอามาก ๆ เรียกว่าเทียบเท่า iPhone 11 Pro เลยก็ได้

แต่ครับแต่… นี่แค่น้ำจิ้ม เพราะของจริงอยู่ที่นี่

นี่คือวิดีโอที่ถ่ายจาก Mate 30 Pro ครับ และไม่ใช่การถ่ายแบบธรรมดา นี่คือการถ่ายวิดีโอด้วยโหมด “Portrait” ใช่ครับ โหมด Portrait นี่แหละ

แม้อาจจะยังทำได้ไม่ดี เพราะยังเป็นมือถือรุ่นแรกที่ทำได้ แต่ความต่อเนื่องในการโฟกัสวัตถุ การตัดขอบตัวแบบ การกันสั่น ถือว่าทำได้ดีมาก และน่าจะนำไปปรับใช้กับหลาย ๆ สถานการณ์ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว และเมื่อบวกกับเซ็นเซอร์แบบ RYYB สิ่งที่ได้คือเมื่อถ่ายย้อนแสง ตัวเครื่องสามารถแยกรายละเอียดได้ค่อนข้างดีมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือตัวเครื่องพยายามมีการเซฟหน้าตัวแบบอย่างชัดเจน ต่อให้หน้าตัวแบบมีดรอปลงไปบ้าง แต่ไม่ได้ถึงกับว่าตัวแบบจะมืดลงไปเลย ซึ่งน้อยรุ่นมากที่สามารถถ่ายวิดีโอย้อนแสงได้ดีแบบนี้

แต่ ๆๆๆๆๆๆๆ …. สิ่งที่เด็ดดวงมากที่สุดของ Mate 30 Pro ตัวคือก็คือ… “Super Slo-mo” นั่นเอง ตัวเครื่องสามารถถ่ายวิดีโอในโหมด Super Slo-mo ได้นานสุด ๆ ถึง 7680 เฟรมต่อวินาที บนความละเอียด 1080p แต่นั่นนานไปครับ เพื่อให้เห็นภาพว่ามันเทพยังไง เลยถ่ายมาในระดับหนึ่งดังที่เห็นด้านบนนี้

คงไม่ต้องถามสภาพผมหลังจากนั้นนะครับ ฮา~

การถ่ายวิดีโอไม่ว่าจะด้วยกล้อง Ultra-Wide หรือกล้อง Wide สิ่งที่ Mate 30 Pro แถมมาให้ด้วยนั่นคือการกันสั่นด้วยการใช้ AI หรือ AI Image Stabilization แบบเดียวกับการถ่ายภาพ ผมให้ดูภาพแบบเดียวกับที่ถ่ายบน Cable Car เลยละกัน Cable Car ที่นี่ มีการสั่นค่อนข้างรุนแรงหลายจุด แต่ Mate 30 Pro ก็ยังเซฟความนิ่งเอาไว้ได้แบบ นิ่งมากกกกกกกก นิ่งสุด ๆ จะมีไหวบางจุดคือ จุดที่ผมต้องเคลื่อนตัวเพื่อเปลี่ยนทิศกลับไปยังสถานีต้นทาง แต่การสั่นไหวเพียงนิดเดียว เมื่อเทียบกับภาพองค์รวมแล้วก็ไม่ได้น่าเกลียดมากนักครับ อยู่ในระดับที่ “รับได้” เลยล่ะ ยิ่งถ้านำไปใช้กับพวกไม้ Gimball หรือไม้เซลฟี่แล้วล่ะก็ ไม่ต้องสืบเลยครับว่าการถ่ายวิดีโอบน Mate 30 Pro เนี่ย จะนิ่งและเทพสุด ๆ ขนาดไหน

ทั้งหมดนี้ถามว่าผมอวยเกินไปหรือเปล่า บอกเลยว่า “ไม่ครับ” กล้อง Mate 30 Pro นี่เทพของจริง แม้บางจุดอาจจะมีความไม่สมเหตุสมผลบ้าง แต่โดยรวมถือว่า Huawei มาถูกทาง ปรับปรุงนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่แน่นะครับ ใน P40 หรือ Mate 40 เราอาจจะได้เห็นกล้องที่เทพมาก ๆ บนสมาร์ทโฟนเลยก็ว่าได้ ชนิดที่เรียกว่าโยนกล้องคอมแพคไว้ที่บ้านเลยก็ได้

สิ่งที่ "เป็ด" สุด ๆ ... คือ "ซอฟต์แวร์"

ครับ… ไม่ผิดหรอก…

เรียกว่าเป็น “โชคร้าย” ของ Huawei ละกัน ที่มรสุมการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ต้องมีชื่อ Huawei เข้าไปเกี่ยวข้อง และ Huawei เอง ก็ไม่สามารถเจรจาเรื่องสิทธิ์การใช้งานซอฟต์แวร์ของ Google ให้ทันก่อน Mate 30 Pro เปิดตัวได้ ผลก็คือ… Huawei Mate 30 Pro จึงเปลี่ยนจาก Android ตัวเทพ เป็น “Android ตัวเป็ด” แห่งปี

ปัญหาหลัก ๆ ก็ไม่ใช่ที่ไหนหรอกครับ แต่เป็นที่ตัวเซอร์วิสของระบบ ด้วยสถานการณ์ที่เป็นไฟลต์บังคับ ทำให้ Huawei ต้องคลอดสิ่งที่มีชื่อว่า “Huawei Mobile Service” หรือ HMS ที่เดิมทีตั้งใจใช้งานร่วมกับ Harmony OS ออกมาลองเชิงหรือขัดตาทัพไปก่อน แต่เพราะ HMS ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แอปฯ หลายตัว “ทำงานได้ไม่สมบูรณ์” หรือถึงขั้น “ใช้ไม่ได้เลย” บน Mate 30 Pro ตัวนี้

แต่ไม่ใช่ว่าจะถึงขั้นที่ไม่มีแอปฯ ให้ใช้งานบน Mate 30 Pro เลย เพราะ Mate 30 Pro ยังรัน Android (แถมเป็น Android 10) ฉะนั้นเรายังสามารถลงสโตร์อื่น ๆ เพื่อหาแอปฯ มาติดตั้งใช้แทนได้ และแอปฯ หลัก ๆ ชนิดที่ขาดไม่ได้อย่าง Facebook หรือ Instagram ก็ยังทำงานบน Mate 30 Pro ได้ตามปกติ ไม่ได้มีปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด

และแถม Huawei ยังผลาญงบการตลาดครั้งใหญ่ เพื่อชวนให้นักพัฒนาหันมาพัฒนาแอปฯ ลง Huawei AppGallery แทนด้วย แม้จะเริ่มมีแอปฯ ให้ใช้งานมากขึ้นบน AppGallery แต่แอปฯ ส่วนใหญ่ที่จะมีปัญหา ก็ล้วนจะเป็นแอปฯ ที่ต้องมีการเรียกใช้ Google Play Service หรือ GMS อยู่ดี เช่น Grab, 7-Eleven Thailand, Central, Tops Thailand เป็นต้น

ผมลองไล่ Top 100 ของ Google Play บน Mate 30 Pro ดู ผลก็คือหลายแอปฯ สามารถรันได้ บางแอปฯ ก็ไม่สมบูรณ์เพราะหา Service บางตัวไม่เจอ แต่ที่น่าสนใจคือหลายแอปฯ ถึงขั้นรันไม่ขึ้นเลย เพราะหา Service ที่ต้องใช้ไม่เจอ ดังนั้นคติที่ Huawei พยายามกล่อมผู้ใช้ว่า “ไม่มี Google ก็อยู่ได้” นั้น แทบไม่เป็นความจริง

ถ้าจะแก้ปัญหาด้วยการติดตั้ง GMS ใช้แทน? บอกเลยว่าต่อให้ติดตั้ง GMS ลงไปได้ แต่ก็ไม่ได้ดีไปกว่าเดิมมากนักหรอก เพราะฝั่ง Google อัพเดตระบบปิดช่องโหว่กัน Mate 30 ทุกช่องทาง และบางแอปฯ ก็ยังรันไม่ขึ้นบน Mate 30 อยู่ดี

ทางเดียวที่น่าจะแก้ปัญหาแอปฯ ได้ ก็คงเหลือแต่การ “เจรจากับ Google” เพื่อให้ใช้ GMS ได้ตามปกติแล้วล่ะ

แต่สิ่งเดียวที่ไม่ได้เป็ดไปตาม HMS ก็คือ… EMUI 10 ที่เวอร์ชันนี้มีการปรับปรุงค่อนข้างมาก แถมยังเพิ่มสิ่งที่เรียกว่า Easy Connection เข้ามาด้วย ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ได้ง่ายราวกับดีดนิ้วเหมือนกับบน iPhone ซึ่งฟีเจอร์นี้สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริมของ Huawei ทุกชนิด รวมถึงอุปกรณ์เสริมจากผู้ผลิตรายอื่น ๆ เช่น DJI ที่พัฒนาให้ OSMO Mobile 3 รองรับฟีเจอร์นี้ด้วย

ฉะนั้นแล้วทุกอย่างเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ถ้าไม่นับเรื่อง GMS หรือ HMS หรืออะไรก็แล้วแต่… Mate 30 Pro เป็นมือถือที่เรียกว่า ครบเครื่อง ครบรส ยิ่งกว่าตอนเป็น P30 Pro แต่ถ้ารวมเรื่อง GMS เข้าไปแล้ว ก็นั่นแหละครับ เพราะ Huawei ไม่ใช่ Google หลายอย่างมันทำแทนกันไม่ได้จริง ๆ

"แบตเตอรี่" ที่จะเป็ด ก็ไม่เป็ด จะดีก็ดีไม่สุด

เรื่องแบตเตอรี่นี่เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้กับอุปกรณ์หรือแก็ดเจ็ตสมัยนี้จริง ๆ บน Huawei Mate 30 Pro ให้แบตมาค่อนข้างเยอะครับ คือ 4400 mAh แต่พอใช้งานจริง ถ้าใช้หนัก ๆ เลยเนี่ย ตัวเครื่องจะมีอาการแบตวูบหนักมาก เหมือนการจัดการพลังงานโดยรวมของตัวเครื่องยังทำได้ไม่ดีนัก แต่ถ้าใช้งานแบบชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป เช่น โทรเข้า-โทรออก ฟังเพลง เล่นเน็ต เปิดเว็บ เล่นเฟซไรงี้ ตัวเครื่องจะอยู่ได้ค่อนข้างนานมาก ๆ นานระดับเป็นวันเลยทีเดียว

เป็นเพราะตัวเครื่องไม่มี GMS ด้วยหรือเปล่า? ก็ไม่เชิงหรอกครับ แต่ใน Android หลาย ๆ เครื่องที่ผมเคยใช้งานมาและมี GMS ติดมาด้วยเนี่ย ก็เป็นปัญหาหลักจริง ๆ นั่นแหละ บางเครื่องโดยเฉพาะรุ่นถูก ๆ เนี่ย ส่วนใหญ่ก็โดน GMS สูบพลังงานจนแบตหมดไปก็มี

แต่สำหรับ Mate 30 Pro ถ้าแบตหมดก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะตัวเครื่องให้ที่ชาร์จ Huawei SuperCharge 40w มาตั้งแต่ในกล่อง รวมถึงยังรองรับ Fast Wireless Charge สูงสุดที่ 27w ฉะนั้นตัวเครื่องสามารถชาร์จแบตกลับได้ไวม๊าก เพียงแค่ 30 นาที ก็ใช้งานเครื่องที่แบต 100% ได้แล้ว

สรุป "ทุกอย่าง Perfect ติดอย่างเดียว คือ ... การเมือง"

ก็ดั่งคำคมที่ว่า ใด ๆ ในโลกล้วนไม่มีอะไรที่ “สมบูรณ์” นั่นแหละครับ คำนี้ใช้ได้ดีกับ Huawei Mate 30 Pro เลยทีเดียว เพราะทุกอย่างในเครื่องนั้น Perfect หมด กล้องก็ Perfect EMUI 10 ก็ใช้ได้ดี แต่ที่ไม่ Perfect เลย คือ HMS ไม่ใช่ GMS … Huawei ไม่ใช่ Google ใด ๆ ก็ตามบนโลก Android มันทำแทนกันไม่ได้หรอกครับ

ที่ผมอยากจะบอกก็คือ ถ้า Huawei สามารถดึง Google กลับมาได้ … Mate 30 Pro หรือแม้แต่มือถือรุ่นอื่น ๆ เช่น Mate X, P40 หรือรุ่นอื่น ๆ ที่จะออกในอนาคต มันสมบูรณ์แล้ว และสมบูรณ์พอที่สามารถ “เขย่าเบอร์หนึ่งอย่าง Samsung” ได้สบายเลย

ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้นมีผลค่อนข้างรุนแรง จนทำให้ Huawei ไขว้เขวกันไปพักหนึ่ง แต่ปัจจุบันแม้ Huawei จะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตนี้ แต่เสาหลักที่ยังทำให้ไขว้เขวอยู่อย่าง “Google” ก็ยังคงทำให้ Huawei ยังคงเป๋ในตลาดโลกจนถึงทุกวันนี้ และถ้าเป็นแบบนี้ไปนาน ๆ ก็อาจทำให้บัลลังก์เบอร์ 2 สมาร์ทโฟนโลกสั่นคลอนได้เช่นกัน

แต่ถ้าวันใดวันหนึ่งฟ้าเปิดที่ Huawei ขึ้นมา เราอาจจะได้เห็นยักษ์หลับ ผงาดขึ้นจนทำให้ทุกคนเริ่มหวาดกลัวได้เช่นกัน

และผมเองก็ภาวนาขอให้วันนั้นมาถึงเร็ววันเหมือนกัน ไม่ใช่เพราะจะอวย Huawei แต่อยากให้วงการเดินหน้าต่อได้ครับ : )

คณะแกดกวน #teamgadguan

อริญชย์ ชวะโนทัย (iBehemortHz)

เด็ก ป.โท ผู้สนใจในโลกดิจิทัลและสังคม และคอยเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงผ่านสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า "หน้าจอ" :)